พระประวัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

เปิดพระประวัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มีพระนามเดิมว่า “หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร” ประสูติเมื่อวันเสาร์ 13 กรกฎาคม 2500 ณ โรงพยาบาลกายส์ เขตเซาท์วาร์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร

พระนาม “โสมสวลี” หมายความว่า “น้ำผึ้งพระจันทร์” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระชนม์ชีพในวัยเยาว์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา รุ่นที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2504 รุ่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2510 พระองค์ก็ทรงลาออกจากโรงเรียนเดิม และย้ายไปประทับที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเข้าศึกษาที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี

เมื่อบิดาได้ย้ายกลับมายังกรุงเทพมหานคร ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะหนึ่ง แต่ด้วยมิสะดวกต่อการรับส่ง จึงได้ย้ายมาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนราชินี เนื่องจากเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ไปยังที่ทำงานของบิดา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และน้องสาว (หม่อมหลวงสราลี กิติยากร) เติบโตในวังเทเวศร์และได้รับการเลี้ยงดูอย่างสามัญ มีพระบิดาไปรับส่งที่โรงเรียน พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่งานบ้านด้วยพระองค์เอง เช่น จัดที่นอนให้เป็นระเบียบ กวาดบ้าน ถูพื้น รวมไปถึงการปลูกผักและตัดหญ้า

รวมถึงโปรดการประกอบอาหาร และวิชาภาษามากกว่าวิชาใด ๆ แต่พระองค์ไม่ถูกกับวิชาคำนวณ เมื่อพระองค์สำเร็จการศึกษาระดับ ม.ศ. 2 พระองค์ก็ขอร้องกับบิดามารดา เพื่อขอออกมาศึกษาวิชาที่พระองค์ชอบ

อภิเษกสมรส

วันที่ 17 ธันวาคม 2519 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกอบพิธีหมั้นระหว่างพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

วันที่ 3 มกราคม 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วังสระปทุม และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มีพระประสูติกาลพระธิดา คือ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา” ในวันที่ 7 ธันวาคม 2521

วันที่ 12 สิงหาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนาม เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ”

โดยสร้อยพระนาม “พระวรราชาทินัดดามาตุ” หมายถึง “พระมารดาของพระราชนัดดาพระองค์แรกแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ” กล่าวคือ พระองค์ทรงเป็นพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ความว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ด้วยเป็นพระมารดาผู้ทรงอภิบาล พระราชธิดาพระองค์ใหญ่

ด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระทัยเมตตา จนทรงเจริญพระชนมายุ และทรงปฏิบัติสรรพกรณียกิจอันควรแก่ขัตติยนารี กอปรกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ ผู้พระมารดานั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจน้อยใหญ่ สนองพระเดชพระคุณมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลก่อน

สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ได้ราชการเป็นอันมาก เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่อง
พระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน

มีพระนามตามที่จารึก ในพระสุพรรณบัฏว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ” และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ กับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1

ชีวิตส่วนพระองค์

“พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ” ทรงโปรดงานฝีมือฝึกฝนด้านหัตถกรรมอย่าง การร้อยพวงมาลัย, จัดดอกไม้ และเย็บปักถักร้อย โดยโปรดงานนิตติ้งมากที่สุด โปรดเลี้ยงสัตว์คือ ปลาทอง อีกทั้งโปรดการเล่นเครื่องดนตรี คือ กีตาร์ และเปียโน

รวมถึงยังสามารถทรงเครื่องดนตรีไทยได้บ้าง ได้แก่ ระนาดเอก และฆ้องวง ทั้งนี้ทรงมีพื้นฐานด้านบัลเลต์, ศิลปะการแสดง และการเต้นลีลาศ ทว่าสิ่งที่โปรดมากที่สุด คือการประกอบอาหาร ซึ่งพระองค์ได้ทำพระกระยาหารไปถวายพระบรมวงศานุวงศ์ สม่ำเสมอ

พระมารดา เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร

พระองค์เป็นพระมารดาที่ห่วงใยในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว ทรงกล่าวว่า “ไม่หวงมากนัก แต่มีความเป็นห่วงมากกว่า ทั้งเรื่องความประพฤติ การวางตัว…”

ครั้งหนึ่งทรงกล่าวถึงพระราชธิดาว่า “…ให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากช่วยเหลือตัวเองแล้ว ก็ต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วย มีเมตตา…” และจะทรงดุเมื่อพระราชธิดาทรงทำผิด พระองค์เคยกล่าวไว้ในรายการ วูดดี้เกิดมาคุย ว่า “…เราถือคติเลี้ยงวัวให้ผูกรักลูกต้องตี” ด้วยพระองค์ตีสมเด็จเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาเมื่อครั้งที่ยังทรงศึกษาอยู่โรงเรียนราชินีด้วยก้านมะยม เพราะทรงเอาวงเวียนไปทิ่มขาเพื่อน พระองค์จึงตีเพื่อให้พระธิดารู้ว่าเพื่อนก็รู้สึกเจ็บเช่นกัน

นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นธิดาที่มีความกตัญญูต่อบุพการี แม้บางปีจะมีพระราชกรณียกิจมาก แต่เมื่อถึงวันแม่แห่งชาติ ก็จะทรงร้อยพวงมาลัยด้วยพระองค์เอง และทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปหาท่านผู้หญิงพันธุ์สวลีที่พระตำหนักปากช่องหรือที่พัทยาเป็นประจำทุกปี

ปัจจุบัน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงประทับที่วังเทเวศร์ ตั้งอยู่บริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทางทิศใต้ติดกับวังเทวะเวสม์ ทางทิศตะวันออกติดกับวัดนรนาถสุนทริการาม และบางครั้งก็ประทับที่คอนโดใจกลางเมืองอีกแห่งหนึ่ง

ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงอุปการะ “สิรพัชรา โสพัชรมณี” ชื่อเล่น “ใบพลู” ไว้ในพระอุปถัมภ์ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ทรงกล่าวถึงสิรพัชราว่า “…พระองค์หญิงเลี้ยงเขาเป็นลูกอีกคน…”

พระกรณียกิจ

ข้อมูลจาก สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ระบุว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านสังคมสงเคราะห์และด้านสาธารณสุข โดยทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รวมถึง โครงการคืนชีวิตให้พ่อแม่เพื่อลูกน้อยที่ติดเอดส์

กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุ สำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย และกองทุนนมสำหรับเด็กในโครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก นอกจากนี้ ทรงรับโครงการต่างๆของสภากาชาดไทยไว้ในพระอุปถัมภ์หลายโครงการและทรงจัดตั้งมูลนิธิและโครงการส่วนพระองค์อีกหลายโครงการ อาทิ

  • มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
  • โครงการลดการติดเอดส์ สภากาชาดไทย
  • กองทุนยาพระเจ้าวรวงศ์เธอ ฯ กรมหมื่นสุทธนารีนาถ สำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย
  • กองทุนยาพระเจ้าวรวงศ์เธอ ฯ กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เพื่อช่วยลดการติดเอดส์ สภากาชาดไทย
  • กองทุนนมสำหรับเด็กในโครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก สภากาชาดไทย
  • กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
  • มูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร
  • มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย
  • มูลนิธิสงเคราะห์ของศาลเยาวชนและครอบครัว
  • มูลนิธิบ้านบางแค
  • มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง
  • สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี
  • สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย
  • สมาคมพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย
  • สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
  • ทุนสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี
    กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)

ผลงานการแสดง

เมื่อครั้งวัยเยาว์พระองค์เคยแสดงละครโทรทัศน์ครั้งแรกทางช่อง 4 บางขุนพรหม เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ทรงรับบทเป็น นางพิมพิลาไลยในวัยเด็ก และเป็นนักแสดงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง น้ำผึ้งขม ปี 2517 ทั้งแสดงละครเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในบางวาระ

นอกจากนี้พระองค์แสดงละครเวทีสองเรื่องคือ “รักษาป่า” และหลังจากอภิเษกสมรสกับอดีตพระราชสวามีก็ทรงแสดงละครเวทีเรื่อง “เกาะสวรรค์” ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และหม่อมหลวงสราลี กิติยากร พระขนิษฐา

ปี 2557 ทรงร่วมแสดงในละครเวที เรื่อง ซูสีไทเฮา เดอะ มิวสิคัล ในบทนางนิวฮูลู่ ซึ่งเป็นมารดาของซูสีไทเฮาเพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก และในปลายปีเดียวกันนั้นพระองค์ได้ทรงร่วมแสดงในละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เรื่อง รักเร่ ทรงรับบทเป็น พร้อมจิต

ปี 2559 ทรงร่วมแสดงในละครเวทีเรื่อง ม่านประเพณี ประกาศิตอาญาสวรรค์ ในบทพระมหาเทวีสวรรค์

เส้นทางพระเกียรติยศ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2500 – วันที่ 3 มกราคม 2520

  • หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร

วันที่ 3 มกราคม 2520

  • หม่อมหลวงโสมสวลี มหิดล

วันที่ 3 มกราคม 2520 – 12 สิงหาคม 2534

  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

วันที่ 12 สิงหาคม 2534 – 5 พฤษภาคม 2562 

  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 – ปัจจุบัน 

  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

 

Source : https://www.prachachat.net/royal-house/news-889367