ประวัติความเป็นมา
วันสงกรานต์ หรือ วันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลีของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทยเปลี่ยนจากการสาดสี เป็นการสาดน้ำใส่กัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน และในอีกแง่หนึ่งยังมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ทำให้นิยมเล่นสาดน้ำ และประแป้งกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจะไม่ถือโทษโกรธกัน
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า “การเคลื่อนย้าย” โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี อีกนัยหนึ่งก็คือการเคลื่อนสู่ปีใหม่ ทำให้คนไทยยึดถือวันสงกรานต์เป็น “วันขึ้นปีใหม่ไทย” มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่ง พ.ศ. 2483 ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามแบบแผนสากลนิยม ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคมของทุกปี
ทั้งนี้ การละเล่นสงกรานต์ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว รวมถึงบางพื้นที่ของเวียดนาม จีน ศรีลังกา และอินเดีย
เรื่องเล่า “ตำนานนางสงกรานต์”
สำหรับประวัติวันสงกรานต์ หรือกำเนิดวันสงกรานต์ มักมีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงถึง “ตำนานนางสงกรานต์” โดยอ้างอิงตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ตำนานเล่าว่า มีเศรษฐีฐานะร่ำรวยคนหนึ่ง ไม่มีบุตร จึงไปบวงสรวงขอบุตรกับพระอาทิตย์ และพระจันทร์ แต่รอหลายปีก็ไม่มีบุตรสักที จนกระทั่งถึงฤดูร้อนปีหนึ่ง เศรษฐีได้นำข้าวสารซาวน้ำ 7 สี หุงบูชารุกขพระไทร พร้อมเครื่องถวาย และการประโคมดนตรี โดยได้ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร พระไทรได้ฟังก็เห็นใจ จึงไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้เศรษฐี ต่อมาเศรษฐีได้บุตรชาย และตั้งชื่อว่า “ธรรมบาลกุมาร”
ธรรมบาลกุมารเป็นคนฉลาดหลักแหลม จนมีชื่อเสียงร่ำลือไปไกล ทำให้ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาท้าทายปัญญา โดยได้ถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร ให้เวลา 7 วัน หากฝ่ายใดแพ้จะต้องตัดศีรษะบูชา ท้ายที่สุดธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้ ท้าวกบิลพรหมจึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ แต่หากศีรษะนี้ตกลงพื้นโลก จะเกิดเพลิงไหม้โลก
ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้บาทบาจาริกาของพระอินทร์ทั้ง 7 นาง สลับหน้าที่หมุนเวียนทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียร หรือศีรษะของตนแห่รอบเขาพระสุเมรุ ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งตรงกับช่วงมหาสงกรานต์ โดยนางสงกรานต์ทั้ง 7 มีชื่อ ดังนี้
1. นางทุงษะเทวี
2. นางรากษเทวี
3. นางโคราคเทวี
4. นางกิริณีเทวี
5. นางมณฑาเทวี
6. นางกิมิทาเทวี
7. นางมโหธรเทวี
คติความเชื่อ และเรื่องราวประวัติวันสงกรานต์ จึงเชื่อมโยงกับโหราศาสตร์การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษในช่วงวันมหาสงกรานต์ โดยในแต่ละปีก็จะมีชื่อนางสงกรานต์ทั้ง 7 สลับหมุนเวียนกันนั่นเอง
กิจกรรมในวันสงกรานต์ 2566
กิจกรรมทั่วไปในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ คนไทยนิยมเล่นน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระวันสงกรานต์ ใครที่อยู่ห่างไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองวันปีใหม่ไทย รวมถึงกล่าวคำอวยพร “สุขสันต์วันสงกรานต์” และ “สวัสดีวันสงกรานต์” ให้แก่กัน
นอกจากนี้ แหล่งท่องเที่ยวสำหรับจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ก็สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้วันสงกรานต์ของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
สำหรับปีนี้ มีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องจัดงานโดยดำเนินมาตรการคุมเข้มทางสาธารณสุข ผู้ร่วมงานต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในงาน รวมถึงใช้เจลล้างมือเพื่อป้องกันเชื้อโรค